ความปลอดภัยของสารเคมียางที่ใช้สัมผัสอาหาร


   เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 วารสาร Science of the Total Environment โดย Di Feng และคณะ จาก Beijing Technology and Business University, Beijing, China ได้เผยแพร่บทความ การทดสอบผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร (FCA) ที่ทำจากยางซิลิโคน จำนวน 42 ตัวอย่าง ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องครัว 31 ตัวอย่าง และจุกนมยางขวดนมสำหรับทารก 11 ตัวอย่าง เพื่อดูความเป็นพิษต่อเซลล์ ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ และองค์ประกอบทางเคมี งานวิจัยนี้พบว่า ตัวอย่างเครื่องครัวจำนวน 31 ตัวอย่าง มีความเป็นพิษต่อเซลล์ถึง 96% ตรวจพบสารที่มีผลต่อทำงานของต่อมไร้ท่อ คือ สารกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER: estrogenic activity) 64%, สารต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน (AntiER: anti-estrogenic activity) 19%, ฮอร์โมนแอนโดรเจน (AR: androgenic activity) 42% และสารต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (AntiAR: anti-androgenic activity) 39% ตามลำดับ ในขณะที่ จุกนมยางขวดนมสำหรับทารก ไม่พบความเป็นพิษ นอกจากนี้ทางทีมวิจัย ได้ตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีด้วยเครื่อง GC-MS ที่ต่อกับ UPLC-Q-TF MS พบว่า เครื่องครัวเหล่านี้ยังพบสารตกค้างที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ 26 รายการ และโลหะ 21 รายการ รวมถึง ไซคลิค เมทิลไซลอคเซน (cyclic methylsiloxanes) สารพลาสทิไซเซอร์ในกลุ่ม phthalic acid esters และกลุ่ม fatty acid และสารหล่อลื่นอื่น ๆ
   เมื่อปี 2559 นักวิจัยจากปักกิ่งได้วิเคราะห์การตกค้างของยางซิลิโคนที่ต้องสัมผัสกับอาหาร 30 ตัวอย่าง เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมีจำนวน 140 รายการ ซึ่งมี 53 รายการที่ทำการประเมินความปลอดภัยเพิ่มเติม โดย European Consumer Organization (BEUC) ได้ทำการทดสอบแม่พิมพ์ซิลิโคน 44 รายการที่จำหน่ายในยุโรปพบว่ามีการปล่อยสารเคมีในปริมาณสูง ซึ่งรวมถึงสารเคมีที่น่าเป็นห่วงสูง (substances of very high concern: SVHCs) ทำให้ BEUC เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับซิลิโคนที่สัมผัสอาหาร
    นอกจากนี้ Khairun Tumu และคณะ จาก Iowa State University, Ames, USA ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ในวารสาร Comprehensive Reviews in Food Science and Food Safety ถึงการทบทวนเรื่อง สารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine disrupting compounds: EDCs) ที่มาจากวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร (FCA) หลายประเภท โดยสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปที่มีขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น พะทาเลต, บิสฟีนอลเอ (bisphenol A (BPA)) และ บิสฟีนอลเอส (bisphenol S (BPS)) เป็นต้น เพื่อหาวิธีการกำหนดและข้อจำกัดที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบถึงด้านกฎระเบียบและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

รูปที่ 1 การหาปริมาณสารที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์จากผลิตภัณฑ์ยางซิลิโคนจำนวน 42 ตัวอย่าง คือ เครื่องครัว 31 ตัวอย่าง (K: kitchenware) และจุกนมยางขวดนมสำหรับทารก 11 ตัวอย่าง (N: bottle nipple) a: การทดสอบ RGR ที่ความเข้มข้น 12.5, 25, 50, 100, 200 mg/mL. b: ปริมาณ IC50 ของปริมาณสารที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ในเครื่องครัว 31 ตัวอย่าง

    ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้สารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine disrupting compounds: EDCs) เช่น สารพะทาเลต (phthalates) สำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2551 เนื่องจากสารพะทาเลต จะไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเด็กรวมทั้งพัฒนาการเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ในขณะที่สาร BPA เข้าไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนสเตียรอยด์ (steroid hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและไทรอยด์ และยังมีผลต่อระบบประสาท นอกจากนี้สาร BPA มีผลกับโรคหัวใจและหลอดเลือดและภาวะความดันโลหิตสูงนั้นค่อนข้างชัดเจน

    ด้วยเหตุนี้ ทางองค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่นได้ประกาศเจตจำนงในการก่อตั้งเครือข่ายเพื่อการปกป้องเด็กจากสารเคมีที่เป็นพิษ เนื่องจากพบว่าการสัมผัสสารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ (EDCs) และสารเคมีที่เป็นพิษที่ทำลายระบบประสาทสมอง มีผลต่อฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในร่างกาย ทำให้เด็กมีการเติบโตผิดปกติ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้นำการแก้ไขข้อบังคับ (EC) เลขที่ 1272/2008 ว่าด้วยการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ (CLP) ของสารและสารผสม ซึ่งแบ่งประเภท EDCs โดยละเอียดเป็น (1) สารที่ทราบว่าหรือสันนิษฐานว่าเป็นสารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ สำหรับสุขภาพของมนุษย์ และ (2) สารที่สงสัยว่าเป็นสารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ สำหรับสุขภาพของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถควบคุมสารเหล่านี้ในสหภาพยุโรป ได้ดีขึ้น

ที่มา:

  1. https://ipen.org
  2. https://www.sciencedirect.com/
  3. https://www.foodpackagingforum.org
  4. https://www.cirs-group.com/

| เช็คอีเมล | เจ้าหน้าที่ |